อย. เดินหน้าเชิงรุก เปิดคลินิกให้คำปรึกษานอกสถานที่

ขับเคลื่อนธุรกิจเครื่องมือแพทย์สู่สากล


วันที่ 10 -12 กรกฎาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าร่วมงาน Medlab Asia และ Asia Health 2024 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยภายในงานมีบริษัทที่ร่วมแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ มากกว่า 350 บริษัท จาก 28 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 10,000 คน และคาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายในงานไม่น้อยกว่า 1,640 ล้านบาท ทั้งนี้ อย. ได้เปิดคลินิกให้คำปรึกษาผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจด้านเครื่องมือแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการให้คำปรึกษาเชิงรุก (Proactive) อย่างครบวงจร ทั้งการขออนุญาตผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจด้านเครื่องมือแพทย์ โดยจัดสถานีให้คำปรึกษาเป็นรายผลิตภัณฑ์ (Co-Creator) เริ่มตั้งแต่แนวคิด กระบวนการผลิต จนถึงการขึ้นทะเบียนกับผลิตภัณฑ์กับ อย. ทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้า รวมไปถึงการขออนุญาตโฆษณาเครื่องมือแพทย์ ซึ่งในงานนี้ผู้ประกอบการไทยจะได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในธุรกิจด้านเครื่องมือแพทย์ในแง่มุมจากต่างประเทศ และได้ประโยชน์จากการจับคู่ธุรกิจ เกิดการลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ อย. หวังเป็นอย่างยิ่งให้เกิดการผลักดันอุตสาหกรรมทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ด้านสุขภาพแห่งเอเชีย ซึ่งจะยังเป็นประโยชน์แก่ภาคธุรกิจและส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างมาตรฐานและคุณภาพเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล


—--------------------------------------


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน

ไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย


นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และเภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หารือร่วมกับนายจารุเดช คุณะดิลก ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเข้าพบครั้งนี้ เพื่อแนะนำกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอะไหล่ยานยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานทางเลือก ทำให้ต้องมีการปรับตัวทางธุรกิจ และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่าน (Part Transformation) เป็นอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ซึ่งหากมีการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านนี้ไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ คาดว่าจะสามารถทดแทนการนำเข้าชิ้นส่วนและอะไหล่ ปีละประมาณ 9 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ เลขาธิการฯ ได้แนะนำให้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะส่งผลให้สามารถตั้งเข็มมุ่งได้อย่างชัดเจน เพื่อ อย.
จะสามารถสนับสนุนได้อย่างตรงเป้าหมาย ประกอบกับการศึกษากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านเครื่องมือแพทย์ โดยแนะนำให้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยงให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอะไหล่ยานยนต์ และให้ข้อคิดเห็นว่าเป็นการดีที่จะผลักดันให้เกิดการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ ชิ้นส่วน ส่วนประกอบ หรือวัตถุดิบต่าง ๆ ของเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะสามารถลดการนำเข้าชิ้นส่วน ส่วนประกอบ และวัตถุดิบจากประเทศได้เป็นอย่างมาก และยังเป็นการเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย โดยรองเลขาธิการฯ กล่าวเสริมว่า ขอให้ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นำแผนงานการดำเนินงานรวมไปถึงผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่ต้องการจะผลักดันให้เป็น Product Champion มาร่วมปรึกษาหารือเป็นระยะ ๆ อย่างใกล้ชิด และความต้องการที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสนับสนุน 

ทั้งนี้ อย. ยินดีที่จะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ โดยการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้เกิดความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน และการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วย รวมทั้งให้คำแนะนำและคำปรึกษาสำหรับการวิจัยเครื่องมือแพทย์นวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ โดยเน้นการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและสัมฤทธิ์ผลทางการตลาดของนวัตกรรมใหม่ สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนตามนโยบายของประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจรบรรลุเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน รักษาฐานการผลิตในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต