5 ข้อควรระวัง ในการแจ้งโฆษณาโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข
ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต


การแจ้งโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพฯ ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตโฆษณา เป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์ทางสื่อโฆษณาใดๆ ที่มีลักษณะและวิธีการจำกัดอยู่แต่เฉพาะในผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และการสาธารณสุขเท่านั้น


โดยแจ้งการโฆษณาโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพฯ ตาม แบบ จ.ฆ. ทางระบบ E-submission หากการกระทำดังต่อไปนี้ จะถือว่าไม่ได้แจ้งการโฆษณาฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา


1. ไม่ได้ระบุสถานที่และช่วงเวลาในการกระจายสื่อโฆษณาใน แบบ จ.ฆ. ข้อ 3และไม่ได้ระบุวิธีจำกัดการเข้าถึงสื่อโฆษณาให้เข้าถึงได้เฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขใน แบบ จ.ฆ. ข้อ 4

2. หน้าโฆษณาไม่มีข้อความ “โฆษณาโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องขออนุญาต” (Direct advertising to healthcare professionals that is exemption for permission) หรือมีข้อความดังกล่าวแต่ไม่ชัดเจน(ตัวอักษรมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนทั้งหมดของหน้าโฆษณา ตัวอักษรเบลอสีตัวอักษรกลืนไปกับพื้นหลัง)

3. เนื้อหาโฆษณาเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์

4. เนื้อหาโฆษณาเป็นการโฆษณาต่อประชาชนทั่วไป หรือ ลักษณะ วิธีการโฆษณาไม่สามารถจำกัดอยู่แต่เฉพาะในผู้ประกอบวิชาชีพฯ เท่านั้น ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ -> ผู้ประกอบการจะต้องไปขออนุญาตโฆษณาเครื่องมือแพทย์ 

5. กรอกชื่อเครื่องมือแพทย์และเลขที่ใบอนุญาตใน แบบ จ.ฆ.ข้อ 1 ไม่ครบถ้วนถูกต้องตรงตามรายการเครื่องมือแพทย์ที่ปรากฏในหน้าโฆษณา


หลังจากยื่นแจ้งการโฆษณาโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพฯ แล้ว ผู้แจ้งสามารถนำสื่อโฆษณาไปเผยแพร่ได้ โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตโฆษณา พ.ศ.2563 และการโฆษณาต้องไม่ฝ่าฝืนมาตรา 59 แห่ง พรบ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ซึ่ง อย. จะดำเนินการตรวจสอบ (Post audit) ต่อไป